“การปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรในจังหวัดบุรีรัมย์ มีต้นทุนค่าแรงงานสูง เพราะต้องใช้แรงงานเกือบทุกขั้นตอน ในช่วงขั้นตอนการไถเตรียมแปลง ลงกล้าพันธุ์ปลูกอาจจะใช้เครื่องจักรได้ แต่ในระยะที่พืชเติบโตไปแล้วไม่ว่าจะกำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ย ฉีดพ่นยา หมดสิทธิ์ใช้เครื่องจักร เพราะเครื่องจักรที่มีไม่สามารถเข้าไปทำงานในแปลงปลูกได้ ทำให้ลูกหลานเกษตรกรต้องหยุดเรียนหนังสือ ไปช่วยงานในไร่เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัว เลยกลายเป็นโจทย์ให้เรามาคิดวางแผนไว้จะพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือที่สามารถเข้าไปทำงานในแปลงมันฯ และอ้อยที่กำลังเจริญเติบโตไม่ให้ได้รับความเสียหาย”
นายวิทยา พลศรี ผอ.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ เล่าถึงที่มาของการคิดประดิษฐ์ทำ “รถไถยกสูง”...เนื่องจากในช่วงต้นปี 2562 วิทยาลัย ได้รับมอบรถแทรกเตอร์จากศูนย์คูโบต้าบุรีรัมย์ ภายใต้โครงการ สถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี สานพลังประชารัฐ (Excellent Model School) จึงให้แผนกวิชาช่างกลเกษตร ที่มี อ.อุทิศ บุญนาน เป็นหัวหน้าในการพัฒนาและดัดแปลงรถแทรกเตอร์ดังกล่าวให้สามารถใช้งานได้ในทุกระยะของการปลูกพืช เพื่อลดต้นทุนการจ้างแรงงาน และเป็นแนวทางให้กับนักศึกษา เกษตรกรรุ่นใหม่ นำไปประกอบอาชีพได้
“การดัดแปลงเราเริ่มจากการยกโครงสร้างของตัวรถให้สูงขึ้นมาจากเดิม 1.20 ม. เพราะเป็นความสูงที่เกินกว่าอ้อยและมันฯ กำลังเติบโตอยู่ในช่วงที่จะต้องพรวนดินกำจัดวัชพืช ให้ปุ๋ย และฉีดพ่นยาป้องกันศัตรู”
อ.อุทิศ อธิบายถึงขั้นตอนการดัดแปลงรถแทรกเตอร์คูโบต้าให้เป็นรถแทรกเตอร์ยกสูงสารพัดประโยชน์ ที่สามารถติดตั้งชุดไถพรวนกำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ยเม็ดใส่ปุ๋ยน้ำแล้วไถกลบ และชุดพ่นยา โดยอุปกรณ์หลักๆต้องทำจากเหล็กหล่อสั่งตรงจากโรงงาน โดยใช้เวลาออกแบบและดัดแปลงนาน 6 เดือน
กลายมาเป็นรถไถยกสูงที่สามารถเข้า ไปทำงานในแปลงปลูกได้ ก่อนจะนำไปทดสอบใช้งานจริงอีก 6 เดือน ในพื้นที่ฝึกนักศึกษาวิทยาลัยเกษตรฯ 800 ไร่ ต.หินเหล็กไฟ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ที่ปลูกทั้งอ้อยและมันสำปะหลัง ตั้งแต่เริ่มปลูก จนไปถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว โดยใช้แรงงานแค่ 2 คนเท่านั้น ทั้งยังไม่ต้องถูกใบอ้อยบาด ไม่ต้องเผาใบอ้อย โดยใช้งบประมาณในการดัดแปลงประมาณ 200,000 บาท ถือว่าคุ้มค่า แต่หากจะผลิตในปริมาณมาก จะสามารถลดต้นทุนลงได้อีก จะเหลืออยู่ที่คันละ 80,000 บาท
ไชยรัตน์ ส้มฉุน
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
ลิงค์ : https://www.thairath.co.th/news/local/1762185